Build For School 2021

CSR กวศ.
6 min readMay 21, 2021

โครงการ Build For School เป็นโครงการโดยฝ่ายพัฒนาสังคมและบำเพ็ญประโยชน์ กรรมการนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีจุดประสงค์ให้นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ทุกชั้นปี มาร่วมสร้างชั้นวางหนังสือให้กับโรงเรียนต่างจังหวัดที่ขาดแคลน ส่งเสริมทักษะด้านงานช่างให้แก่นิสิต โดยการได้ลงมือปฏิบัติจริง และได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่งเสริมให้นิสิตมีจิตอาสาช่วยให้เกิดประโยชน์แก่สังคม ซึ่งปัจจุบันมีโรงเรียนที่มีความขาดแคลนและต้องการความช่วยเหลืออยู่จำนวนหนึ่ง จึงเล็งเห็นว่าการสร้างตู้หนังสือสำหรับโรงเรียนจะสามารถช่วยเหลือและสร้างประโยชน์ได้ นอกจากนี้ยังเป็นการฝึกฝนการทำงานเป็นทีม และสร้างภาวะความเป็นผู้นำแก่นิสิตที่เข้าร่วมกิจกรรมอีกด้วย

กิจกรรมนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 มีนาคม ถึง 9 เมษายน 2564 ณ ทางเดินข้างอาคารเจริญวิศวกรรมฝั่งถนนอังรีดูนังต์

โดยจะมีการเปิดรับสมัครนิสิตทุกชั้นปีที่สนใจ และทำการคัดเลือกให้มาเข้าร่วมโครงการจำนวน 30 คน โดยจะแบ่งเป็นกลุ่มทั้งหมด 5 กลุ่ม กลุ่มละ 6 คน มาสร้างชั้นวางหนังสือ วันละ 1 กลุ่ม เป็นเวลาทั้งสิ้น 2 สัปดาห์ ( แต่ละกลุ่มจะได้ทำการสร้างสัปดาห์ละ 1 วัน ) ซึ่งในแต่ละวันการสร้างชั้นวางหนังสือจะเริ่มทำตั้งแต่เวลา 13.30 น.-18.30 น.

ลักษณะของชั้นวางหนังสือ

ขนาด (กxยxส): 26 x 82 x 170 cm

ระยะห่างระหว่างชั้น: 30 cm

วัสดุ:

- ไม้อัดพาราประสาน หนา 15 mm ขนาด 1.2x2.4 เมตร

- เหล็กกล่องขนาดหน้าตัด 2x2 นิ้ว (สำหรับทำขาตั้ง)

- แผ่นเพลทเหล็กขนาด 3x3 นิ้ว (สำหรับทำขาตั้ง)

สัปดาห์แรก (29 มีนาคม–2 เมษายน 2564)

จะเป็นการวาดแบบลงแผ่นไม้ ตัดไม้ตามแบบ ขัดให้แผ่นไม้มีขนาดที่เท่ากัน เซาะร่องไม้ ประกอบแผ่นชั้นและแผ่นข้างของชั้นวางหนังสือ และประกอบจั่วด้านบนของชั้นวางหนังสือ

วาดแบบลงแผ่นไม้

โดยแบบที่ใช้วาดจะเป็นลักษณะดังนี้ ซึ่งจะเป็นการวาดแบบชิ้นส่วนต่างๆของชั้นวางหนังสือ เพื่อจะนำไปใช้ในการตัดไม้ตามแบบในขั้นตอนถัดไป

drawing แบบวาดเพื่อการตัด

ตัดไม้ตามแบบ

ด้วยการใช้เลื่อยวงเดือน ซึ่งจะมีการวางไม้แนวไว้เพื่อช่วยในการไถเลื่อยวงเดือนให้มีความตรงตามแนวตัด

ขัดให้แผ่นไม้มีขนาดที่เท่ากัน

เนื่องจากในการตัดไม้ อาจจะทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนของขนาดเล็กน้อย อาจจะส่งผลในตอนประกอบ จึงต้องมีการขัดให้แผ่นไม้มีความยาวที่เท่ากัน โดยการใช้เครื่องขัดกระดาษทราย และ กบไสไม้ไฟฟ้า

เซาะร่องไม้

จะเป็นการเซาะร่องไม้แผ่นข้างตามระยะความสูงของชั้นแต่ละชั้น ซึ่งจะช่วยในการสอดไม้แผ่นชั้นให้ง่ายต่อการประกอบ ซึ่งจะเซาะให้มีขนาดความกว้าง 16 mm ลึก 0.6 mm ด้วยการใช้เครื่องทริมเมอร์

ประกอบแผ่นชั้นและแผ่นข้าง

นำไม้แผ่นชั้นมาประกอบใส่เข้าไปตามร่องที่ได้ทำการเซาะไว้ ด้วยการยิงสกรูยึดไม้เข้าด้วยกัน

ประกอบจั่วด้านบนของชั้นวางหนังสือ

ทำการประกอบจั่ว โดยนำไม้สองแผ่นมายึดกันเป็นมุมฉากแล้วประกอบเข้ากับตัวโครงของตู้ด้วยการยึดสกรู

สัปดาห์สอง (5–9 เมษายน 2564)

จะเป็นการตัดและประกอบที่กั้นหนังสือตก ขัดไม้ ทาแลคเกอร์เคลือบไม้ และทำขาตู้

ตัดและประกอบที่กั้นหนังสือตก

ทำการตัดไม้ให้มีขนาดความกว้าง 3 cm และยาวเท่ากับความกว้างของชั้นวางหนังสือ เสร็จแล้วทำการยึดสกรูประกอบเข้ากับแต่ละชั้น สำหรับเป็นที่กันหนังสือตก

ขัดไม้

ขัดไม้บริเวณที่เป็นสันมุมของชั้นวางหนังสือ ด้วยการใช้เครื่องขัดกระดาษทราย เพื่อป้องกันไม่ให้มือของผู้ที่ใช้งานไปบาดโดนระหว่างการใช้งาน

ทาแลคเกอร์เคลือบไม้

ทำการลงแลคเกอร์ทั่วทั้งชั้ยวางหนังสือ เพื่อความสวยงามและยืดอายุการใช้งาน โดยจะลงแลคเกอร์ทั้งหมด 2 รอบด้วยกัน

ขั้นตอนการทำขาตู้

ในการทำขาตู้นี้จะเป็นงานเหล็ก ซึ่งจะใช้พื้นที่เวิคชอปภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล ตึกฮันส์ บันตลิ ในการปฏิบัติการ

ตัดเหล็กกล่อง

ทำการตัดเหล็กกล่องให้มีขนาดความยาว 10 cm ด้วยเครื่องตัดไฟเบอร์ จำนวน 4 ขาต่อตู้

เจียรเหล็กกล่อง

ทำการเจียรเหล็กเพื่อปรับให้ขาตู้มีขนาดที่เท่ากัน และเรียบเสมอกัน ด้วยการใช้แท่นมอเตอร์หินเจียร

กำหนดตำแหน่งบนแผ่นเพลทที่จะเจาะ

โดยจะทำการกำหนดตำแหน่งทั้งหมด4จุดต่อหนึ่งแผ่นเพลท ให้แต่ละจุดอยู่ห่างจากขอบแผ่น 1 cm และทำการตอกนำแต่ละจุดไว้ เพื่อให้สะดวกในการเจาะในขั้นตอนถัดไป

เจาะแผ่นเพลท

ทำการเจาะแผ่นเพลทตามที่ได้กำหนดจุดเอาไว้ ด้วยเครื่องเจาะเรเดียล

เชื่อมเหล็กกล่องและแผ่นเพลทเข้าด้วยกัน

ทำการยึดให้เหล็กกล่องอยู่กึ่งกลางแผ่นเพลท แล้วทำการเชื่อมเข้าด้วยกันด้วยการเชื่อมไฟฟ้า (Shielded Metal Arc Welding)

เนื่องจากมีสถานการณ์โควิดระลอกที่ 3 ส่งผลให้ไม่สามารถประกอบตู้ได้เสร็จสมบูรณ์ การประกอบขาตู้และการส่งมอบตู้ให้กับโรงเรียนต่างจังหวัดที่ขาดแคลน จึงต้องเลื่อนออกไปจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น

ชั้นวางหนังสือที่ยังไม่ได้ทำการประกอบส่วนขาตู้

รูปรวมผู้เข้าร่วมกิจกรรม

--

--

CSR กวศ.

ฝ่ายพัฒนาสังคมและบำเพ็ญประโยชน์ กรรมการนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย