ค่ายก้อลำพูนไม่ลำพัง

CSR กวศ.
9 min readJan 26, 2021

--

เมื่อวันที่ 19 -26 ธันวาคม 2563 ฝ่ายพัฒนาสังคมและบำเพ็ญประโยชน์ (CSR) กวศ. ได้จัดกิจกรรมค่ายอาสาพัฒนาชุมชน ที่มีชื่อว่าค่าย “ก้อลำพูนไม่ลำพัง” เพื่อสร้างฝายชะลอน้ำสำหรับการเกษตรชุมชน ลดความรุนแรงของน้ำป่า และยังช่วยให้ป่ามีความชุ่มชื้น อีกทั้งร่วมทำกิจกรรมเสริมประสบการณ์และสร้างความสนุกสนาน ให้กับน้อง ๆ โรงเรียนบ้านก้อจัดสรร ณ ตำบลก้อ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน

โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ค่ายก้อลำพูนไม่ลำพัง

สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้เกิดขึ้นจากการที่ผศ. ดร.สรรเพชญ ชื้อนิธิไพศาล รองคณบดี ได้ส่งเสริมให้นิสิตได้มีโอกาสลงพื้นที่พบปะพูดคุยกับชาวบ้านเพื่อให้นิสิตได้ทราบถึงปัญหาและความเดือดร้อนที่แท้จริง และสนับสนุนให้นิสิตได้มีการทำงานร่วมกับชาวบ้าน จึงได้เกิดการรวมตัวกันของนิสิตฝ่ายพัฒนาสังคมและบำเพ็ญประโยชน์

โดยกิจกรรมเริ่มจากการลงสำรวจในพื้นที่ ซึ่งการสำรวจนี้ ได้ดำเนินการไปสำรวจ 2 รอบ คือ วันที่ 10–13 ตุลาคม 2563 และ 12–15 พฤศจิกายน 2563

การลงสำรวจพื้นที่ตำบลก้อ

จากการสำรวจและสอบถามปัญหากับทางเทศบาลและชาวบ้นตำบลก้อ พบว่าชาวบ้านประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับใช้ในภาคการเกษตร จึงเล็งเห็นร่วมกันว่าควรมีการสร้างฝายชะลอน้ำในพื้นที่ขึ้น เนื่องจากการสร้างฝายจะทำให้สามารถเพิ่มแหล่งกักเก็บน้ำ ชะลอและลดความรุนแรงของน้ำป่า ช่วยให้ป่ามีความชุ่มชื้นส่งผลดีต่อระบบนิเวศ

โดยในการทำฝายในครั้งนี้ แบ่งเป็นทั้งหมด 2 พื้นที่

พื้นที่แรกคือ พื้นที่ห้วยขจวม โดยจะชาวบ้านในชุมชนได้ดำเนินการนำร่องทำฝายมาก่อนล่วงหน้า หลังจากนั้นทางนิสิตได้มาร่วมสร้างฝายกับทางชุมชน ซึ่งฝายที่ในพื้นที่ห้วยขจวมนี้ จะมีทั้งหมด 2 จุดย่อย จุดแรกคือฝายใหญ่ กว้างประมาณ 9 เมตร เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในการอุปโภค บริโภค และการเกษตร จุดที่ 2 คือฝายดักตะกอน กว้างประมาณ 3 เมตร เพื่อชะลอน้ำและดักตะกอนก่อนจะมาถึงฝายใหญ่

พื้นที่ที่สอง คือพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่ปิง โดยจะเป็นการสร้างฝายชะลอน้ำจากวัสดุธรรมชาติร่วมกับทางเจ้าหน้าที่อุทยาน จำนวนรวมทั้งหมด 12 จุด เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น และฟื้นฟูระบบนิเวศ ให้แก่พื้นที่ป่า

กิจกรรมในแต่ละวัน

วันที่ 19 ธันวาคม 2563

ออกเดินทางจากคณะเวลา 8.15 น. ถึงเทศบาลตำบลก้อ เวลาประมาณ 19.00 น. และได้ทำการกล่าวแนะนำค่าย และทำกิจกรรม ice braking เพื่อกระชับความสัมพันธ์ของลูกค่ายและสตาฟ

กล่าวแนะนำค่าย และทำกิจกรรม ice braking

ส่วนกิจกรรมในวันถัดไปจะมีรายละเอียดดังนี้

วันที่ 20 ธันวาคม 2563 : เป็นวันเริ่มทำฝายวันแรก โดยวันนี้จะเป็นการทำฝายที่พื้นที่ห้วยขจวม บ้านก้อจอก ซึ่งแบ่งออกเป็นฝายใหญ่ และฝายดักตะกอน

วันที่ 21 ธันวาคม 2563 : จัดกิจกรรมเสริมประสบการณ์และสร้างความสนุกสนาน ให้กับน้อง ๆ โรงเรียนบ้านก้อจัดสรร

วันที่ 22 ธันวาคม 2563 : ทำฝายในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่ปิง โดยช่วงเช้าทำ 2 ฝาย ช่วงบ่ายทำ 4 ฝาย

วันที่ 23 ธันวาคม 2563 : ทำฝายในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่ปิง โดยช่วงเช้าทำ 5 ฝาย ช่วงบ่ายทำ 3 ฝาย

วันที่ 24 ธันวาคม 2563 : ทำฝายที่พื้นที่ห้วยขจวม บ้านก้อจอก ซึ่งเป็นการเก็บรายละเอียดให้เสร็จ

วันที่ 25 ธันวาคม 2563 : พิธีเปิดฝาย

วันที่ 26 ธันวาคม 2563 : เดินทางกลับคณะวิศวฯ จุฬาฯ

ฝายใหญ่

บริเวณฝายคอนกรีตเสริมเหล็กห้วยขจวมนั้น มีขนาดของทางน้ำอยู่ที่ประมาณ 9 เมตรตัวฝายมีความสูงประมาณ 1.50 เมตร ตรงกลางของฝายทำเป็นร่องโดยใส่กระสอบที่บรรจุดินเข้าไป

มีรายละเอียดขั้นตอนในการสร้าง ดังนี้

  1. ปรับผิวหน้าดินที่มีซากใบไม้และบริเวณที่เป็นดินแห้งอย่างมากออก โดยปรับพื้นที่ด้านข้างโดยรอบฝาย การปรับหน้าผิวดินนี้เพื่อที่จะให้คอนกรีตที่เทนั้นเกาะกันกับผิวดินให้ดียิ่งขึ้น
ปรับผิวหน้าดินโดยรอบ

2. ปรับระดับพื้นที่ โดยขุดลอกชั้นตะกอนทรายที่ห่างจากตัวฝายสักระยะหนึ่งแล้วจึงนำมาถมตรงพื้นที่บริเวณหลังฝายเพื่อที่จะให้ไม่เปลืองปริมาณคอนกรีตที่มากเกินไป

ปรับระดับพื้นที่บริเวณหลังฝาย

3. ขุดร่องดินบริเวณด้านข้างของฝายและด้านหลังของฝายโดยมีความลึกประมาณ 20–30 เซนติเมตร เพื่อให้เหล็กเสริมและคอนกรีตเป็นเขี้ยวยึดติดกับดินไว้

(ซ้าย)ขุดร่องดินบริเวณด้านข้างของฝาย / (ขวา)ขุดร่องดินบริเวณด้านหลังของฝาย

4. นำเหล็กเสริมมาวางไว้โดยรอบด้านข้างฝายและด้านหลังฝาย โดยมีระยะเหลื่อมของเหล็ก อยู่ที่ 30 เซนติเมตร แล้วจึงผูกเหล็กด้วยลวดตรงรอยต่อเข้าด้วยกัน

(ซ้าย)วางเหล็กเสริมที่พื้นด้านหลังฝาย / (ขวา)วางเหล็กเสริมที่ด้านข้างฝาย
ผูกลวดเหล็กตรงบริเวณรอยต่อของเหล็กเสริมและตัดลวดเหล็ก

5. เทคอนกรีตโรงงานผสมปูนบริเวณพื้นที่ที่เตรียมไว้ให้เรียบร้อย โดยที่เทให้ได้ระดับเดิมกับคอนกรีตเดิมที่มีอยู่แล้ว

เทคอนกรีตโดยรอบฝาย

6. บรรจุดินที่ห่างจากหลังฝายมาสักระยะหนึ่งเข้าไปในกระสอบประมาณครึ่งกระสอบ แล้วนำไปวางไว้บริเวณตรงกลางของฝาย โดยวางไว้ให้มีความสูง 3 ชั้น

(ซ้าย)เตรียมดินไว้บรรจุในกระสอบ / (ขวา)บรรจุในกระสอบ

7. ทำการปรับผิวคอนกรีตให้เรียบโดยที่ใช้ปูน ทราย น้ำ ในอัตราส่วนปูนครึ่งถุง ทราย 4 ถัง น้ำ 4 ถัง โดยการผสมปูนนั้นต้องใส่ปูนและทรายเข้าไปในกระบะโม่ก่อน โม่ให้เป็นเนื้อเดียวกันก่อนถึงจะใส่น้ำเข้าไป โม่ให้ไม่มีส่วนที่เป็นผงภายในกระบะจึงน้ำไปฉาบได้

ผสมปูนเพื่อฉาบผิวฝาย

8. ก่อนจะทำการฉาบผิวนั้นต้องมีการให้ความชื้นกับพื้นผิวเก่าก่อน มิเช่นนั้นคอนกรีตที่ฉาบนั้นจะไม่ยึดติดกับพื้นผิวเก่า

ราดน้ำให้ชุ่มชื้นให้กับพื้นผิวเดิม
ฉาบพื้นผิวให้เรียบบริเวณด้านข้างของฝายเพื่อความสวยงาม
ป้ายฝายชะลอน้ำ
ฝายชะลอน้ำที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว

ฝายดักตะกอน

บริเวณห้วยขจวม บ้านก้อจอกมีลักษณะภูมิประเทศเป็นลำธารขนาดเล็ก แต่หากไม่ใช่หน้าน้ำจะแห้งขอด ในบริเวณพื้นที่มีการทำเกษตรกรรมในพื้นที่ที่มีความลาดชัน คือการปลูกข้าวโพด ซึ่งมีโอกาสก่อให้เกิดการชะล้างพังทลายของดิน จึงต้องมีการสร้างฝายเพื่อดักตะกอนที่จะเกิดขึ้น และชะลอการไหลของน้ำ รวมถึงอาจต้องมีการสร้างฝายเพื่อกักเก็บน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร โดยในการสร้างฝายดักตะกอนจึงเลือกสร้างฝายผสมผสานแบบหินทิ้งคอนกรีตยาแนวซึ่งเหมาะสำหรับพื้นที่ที่มีหินจำนวนมาก และมีปริมาณการไหลของน้ำไม่มาก โดยฝายนี้จะสามารถทำหน้าที่ในการดักตะกอน และชะลอการไหลของน้ำได้

โดยมีรายละเอียดขั้นตอนในการสร้าง ดังนี้

  1. ปรับระดับพื้นที่ โดยขุดลอกชั้นตะกอนทรายก้นลำธารออกให้ถึงชั้นที่เป็นดินทึบน้ำ และขุดเข้าไปข้างลำธารประมาณ 0.50 เมตร โดยให้ฝายมีความกว้างประมาณ 0.60 เมตร
ปรับระดับพื้นที่บริเวณที่จะทำการสร้างฝาย

2. นำไม้ไผ่มาตัดเป็นหลักไม้ ความยาวประมาณ 1.40 เมตร และเหลาปลายให้แหลม ตอกหลักไม้ให้จมลึกประมาณ 0.30 เมตร หรือลึกกว่า เท่าที่จะสามารถตอกได้ โดยมีระยะห่างระหว่างหลักไม้แต่ละต้นประมาณ 0.30 เมตร

3. นำฟากไม้ไผ่มาตัดให้มีความยาวเท่ากับความกว้างของลำธาร และนำมาใช้วางขวางลำธาร โดยสำหรับหน้าฝายให้วางอยู่หลังหลักไม้ และสำหรับหลังฝายให้วางอยู่หน้าหลักไม้ โดยผูกฟากเข้ากับหลักไม้ด้วยลวดเหล็ก โดยจะวางฟากต่อกันเป็นชั้นจนฝายมีความสูงประมาณ 1.00 เมตร

ลำเลียงฟากไม้ไผ่เข้าไปยังบริเวณที่จะทำการสร้างฝาย

4. นำหินในบริเวณใกล้เคียงมาใส่ที่ช่องว่างระหว่างหน้าฝายกับหลังฝาย โดยจะนำหินมาวางเรียงเป็นชั้นๆ เมื่อวางเสร็จหนึ่งชั้นก็จะทำการเทคอนกรีตยาแนวจากนั้นจึงวางหินชั้นถัดไป โดยทำการวางเรียงหินจนมีระดับต่ำกว่าระดับขอบบนของฟากไม้ไผ่ที่วางขวางลำธารอยู่ประมาณ 0.20 เมตร

หาหิน
หินมาวางเรียงเป็นชั้นๆ ที่ช่องว่างระหว่างหน้าฝายกับหลังฝาย
เทคอนกรีตยาแนวระหว่างหินแต่ละชั้น

5. นำหินมาวางเรียงกันที่ด้านหน้าและหน้าหลังของฝายพร้อมเทคอนกรีตยาแนวเพื่อเสริมความแข็งแรงให้กับตัวฝาย

นำหินมาวางเรียงกันที่ด้านหน้าและหน้าหลังของฝายพร้อมเทคอนกรีตยาแนว

6. นำหินมาวางเรียงจนมีระดับเท่ากับขอบบนของฝากไม้ไผ่ โดยเว้นช่องตรงกลางกว้างประมาณ 1.00 เมตร ไว้เพื่อทำเป็นทางน้ำล้น ตัดฟากส่วนที่เป็นช่องน้ำล้นออก

นำหินมาวางเรียงจนมีระดับเท่ากับขอบบนของฟากไม้ไผ่ โดยเว้นช่องตรงกลางไว้เพื่อทำเป็นทางน้ำล้น

7. นำหินมาวางเรียงจากสันฝายเข้าไปยังตลิ่งทั้งสองฝั่ง โดยให้มีระดับใกล้เคียงหรือสูงกว่าระดับของสันฝายจนกระทั่งไปบรรจบกับตลิ่งที่มีระดับสูงกว่าระดับสันฝาย จากนั้นจึงเทคอนกรีตยาแนวหินทั้งหมดที่นำมาวางเรียงเพิ่มทั้งในส่วนของสันฝายที่เพิ่มระดับขึ้นมา และในส่วนของหินที่เรียงจากสันฝายเข้าไปยังตลิ่ง

นำหินมาวางเรียงจากสันฝายเข้าไปยังตลิ่งจากนั้นจึงเทคอนกรีตยาแนว

8. ฉาบตกแต่งผิวส่วนที่เป็นคอนกรีตให้เรียบ

ฉาบตกแต่งผิวคอนกรีต

9. นำคอนกรีตมาลาดพื้นบริเวณหน้าฝายเพื่อช่วยลดการซึมน้ำ

นำคอนกรีตมาดาดพื้นบริเวณหน้าฝาย
ฝายผสมผสานแบบหินทิ้งคอนกรีตยาแนว

ฝายในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่ปิง

เนื่องจากบริเวณห้วยแม่น้ำขุ่น ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ปิงที่จะทำการสร้างฝายมีลักษณะภูมิประเทศเป็นร่องน้ำไหล (gully) มีขนาดเล็ก กว้างไม่เกิน 3 เมตร จึงเหมาะกับการสร้างฝายแบบผสมผสาน เน้นการดักตะกอนและชะลอการไหลของน้ำ โดยเลือกสร้างฝายผสมผสานแบบไม้ไผ่เป็นหลัก เนื่องจากในบริเวณนั้นมีต้นไผ่จำนวนมากจึงสามารถนำมาใช้ในการสร้างฝาย นอกจากนี้ยังมีการนำไม้ล้มขอนนอนไพรชนิดอื่นๆ มาใช้ประกอบในการสร้างฝายด้วย

การทำฝายในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่ปิง จะมีทางเจ้าหน้าที่อุทยานคอยดูแล โดยมีรายละเอียดขั้นตอนในการสร้าง ดังนี้

  1. ปรับระดับพื้นที่ โดยขุดลอกชั้นตะกอนทรายก้นห้วยออกให้ถึงระดับที่เป็นดินแข็ง และขุดเข้าไปข้างลำห้วยประมาณ 0.30–0.50 เมตร โดยให้ฝายมีความกว้างประมาณ 0.60–1.00 เมตร
ปรับระดับพื้นที่บริเวณที่จะทำการสร้างฝาย

2. ลำเลียงไม้ไผ่และหิน เพื่อเป็นวัสดุในการทำฝาย

ลำเลียงไม้ไผ่
ลำเลียงหิน

3. นำไม้ไผ่หรือไม้ชนิดอื่นๆ มาตัดเป็นหลักไม้ ความยาวประมาณ 1.30 เมตร และเหลาปลายให้แหลม

ตัดไม้มาทำเป็นหลักไม้ พร้อมเหลาปลายให้แหลมเพื่อความง่ายในการตอก

4. ตอกหลักไม้ให้จมลึกประมาณ 0.30 เมตร หรือลึกกว่า เท่าที่จะสามารถตอกได้

ตอกหลักไม้

5. นำไม้ไผ่มาตัดให้มีความยาวเท่ากับความกว้างของลำห้วย และนำมาใช้วางขวางลำห้วย โดยสำหรับหน้าฝายให้วางอยู่หน้าหลักไม้ และสำหรับหลังฝายให้วางอยู่หลังหลักไม้

นำไม้ไผ่ที่ถูกตัดให้มีความยาวเท่ากับความกว้างของลำห้วยมาวางขวางลำห้วย

6. ผูกไม้ไผ่ที่นำมาวางขวางลำห้วยเข้ากับหลักไม้ไว้ด้วยตอก ซึ่งมีลักษณะเป็นเส้นคล้ายเชือก ทำมาจากไม้ไผ่ โดยทำการจะทำการวางไม้ไผ่ขวางลำห้วยทีละชั้น เมื่อผูกเข้ากับหลักไม้เสร็จแล้วจึงนำไม้ไผ่ชั้นถัดไปมาวางและผูกเข้ากับหลักไม้เหมือนชั้นก่อนหน้า โดยจะวางเป็นชั้นจนฝายมีความสูงประมาณ 0.60–1.00 เมตร ขึ้นกับระดับขอบตลิ่งด้านข้างทั้ง 2 ด้าน

ผูกไม้ไผ่ที่นำมาวางขวางลำห้วยเข้ากับหลักไม้ด้วยตอกที่ทำมาจากไม้ไผ่

7. หากในบริเวณพื้นที่นั้นมีหินก็จะนำหินมาวางใส่ในช่องว่างระหว่างหน้าฝายกับหลังฝาย หรืออาจจะใช้ไม้หรือดินมาบรรจุลงในช่องว่างให้เต็มจนมีระดับเท่ากับไม้ไผ่ที่วางขวางชั้นบนสุด

หากบริเวณนั้นมีหินสามารถนำมาใช้ใส่ในช่องว่างของฝายได้
หากในบริเวณนั้นไม่มีหินก็สามารถนำดินมาบรรจุลงในช่องว่างของฝาย

8. หากต้องการเสริมความแข็งแรงสามารถใช้ไม้ไผ่มาทำเป็นค้ำยันที่ด้านหลังตัวฝาย

เสริมความแข็งแรงให้กับฝายด้วยการทำค้ำยันที่ด้านหลังตัวฝาย
ฝายบริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่ปิง

พิธีเปิดฝาย

ในวันที่ 25 ธันวาคม 2563 จะเป็นพิธีเปิดฝายที่ ฝายเก็บกักน้ำห้วยขจวม บ้านก้อจอก หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านก้อ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน โดยมี นายวรยุทร เนาวรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เป็นประธานเปิดการใช้งานฝายชะลอน้ำ และมีนายปฏิพล แก้วสีมรกต ประธานค่ายอาสาพัฒนาชุมชน, ผศ.ดร. สรรเพชญ นิธิไพศาล รองคณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นางศิริพร กันธิยะ ปลัดอาวุโสอำเภอลี้ ปฏิบัติราชการแทนนายอำเภอลี้, นายชุมพร มะโน นายกเทศมนตรีตำบลก้อ กล่าวรายงาน มีนิสิตนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กำนันตำบลก้อ ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกสภาเทศบาลตำบลก้อ ประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมกิจกรรม

ด้าน นายวรยุทธ เนาวรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน กล่าวว่า “การที่อาจารย์ และน้องนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ได้จัดกิจกรรมค่ายอาสาพัฒนาชุมชน และได้รับทราบถึงปัญหา และความเดือดร้อนของชาวบ้านในพื้นที่ตำบลก้อ ว่าประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำใช้ในภาคการเกษตร และได้ร่วมมือกับชุมชน ดำเนินการทำฝายชะลอน้ำ ถือได้ว่าเป็นความร่วมมือกันระหว่างสถาบันการศึกษาและ ชุมชนในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้ชุมชนมีแหล่งกักเก็บน้ำที่มีประสิทธิภาพ มีน้ำใช้สำหรับอุปโภค และบริโภค รวมไปถึงสามารถนำไปใช้เพื่อทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี ผมขอขอบคุณอาจารย์ และน้อง ๆ นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์หาวิทยาลัย รวมไปถึงบุคลากรต่าง ๆ ทุกภาคส่วนที่ได้มีส่วนร่วมในการดำเนินการและ ก่อสร้างฝายชะลอน้ำที่ตำบลก้อ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูนแห่งนี้จนสำเร็จ”

นายชุมพร มะโน นายกเทศมนตรีตำบลก้อ กล่าวว่า “ผมรู้สึกยินตีเป็นอย่างยิ่งที่ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้เล็งเห็นถึงปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค รวมไปถึงน้ำสำหรับทำการเกษตรตลอดทั้งปี และได้สร้างฝ่ายชะลอน้ำขึ้นมาเพื่อกักเก็บน้ำให้ในชุมชนมีน้ำใช้อย่างเพียงพอผมจึงขอขอบคุณ ทางคณะคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบุคคลกรทุกภาคส่วนที่ได้มีส่วนร่วมในการดำเนินการสร้างฝายชะลอน้ำที่ตำบลก้อ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูนแห่งนี้จนสำเร็จ ชุมชนของเราจะได้มีน้ำใช้ประโยชน์ได้ตลอดทั้งปี”

สามารถดูคลิปข่าวได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=shRNRVnhVJo&ab_channel=ข่าวภาคเหนือNBTChiangmai

กิจกรรม ณ โรงเรียนบ้านก้อจัดสรร

ในวันที่ 21 ธันวาคม 2563 จะเป็นการทำกิจกรรมเสริมประสบการณ์และสร้างความสนุกสนาน ให้กับน้อง ๆ โรงเรียนบ้านก้อจัดสรร โดยจะแบ่งกลุ่มเป็นกลุ่มเด็กเล็ก(ป.1-ป.4) และกลุ่มเด็กโต(ป.5-ม.3) สลับกันทำกิจกรรมในหอประชุมและเล่นเกมฐานต่างๆ

โดยกิจกรรมในหอประชุม จะมีทั้งหมด 4 กิจกรรมคือ Science show, พับกระดาษ, เกม Around the world และ กิจกรรมแต่งนิทาน

Science show
กิจกรรมพับกระดาษ
เกม Around the world

ส่วนเกมฐานนั้นจะเป็นการแบ่งกลุ่มเด็กนักเรียนให้เวียนเล่นเกมฐานต่างๆ ดังนี้ เกมเลเซอร์, เกมสปาเกตตี้, เกมใบ้ท่า, มอญซ่อนผ้า, เกมพลิกกระดาษสี, เกม My Swiper, เกม XO, เกมจิ๊กซอ

เกมเลเซอร์
เกมสปาเกตตี้
เกมใบ้ท่า
เกมพลิกกระดาษสี
(ซ้าย) เกม My Swiper / (ขวา) เกม XO
เกมจิ๊กซอ

ภาพแห่งความประทับใจ

--

--

CSR กวศ.
CSR กวศ.

Written by CSR กวศ.

ฝ่ายพัฒนาสังคมและบำเพ็ญประโยชน์ กรรมการนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย